
JWT หรือ J.Walter Thompson ได้ทำนายเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค The Future 100 โดยคาดการณ์ภาพใหญ่ทั่วโลก และแบ่งออกเป็น 10 หมวด ทั้งเรื่องประเด็นวัฒนธรรม, เทคโนโลยีและนวัตกรรม, การท่องเที่ยวและฮอสพิทาลิตี้, แบรนด์และการตลาด, อาหารและเครื่องดื่ม, ความงาม, รีเทล, ลักชัวรี, สุขภาพ และเรื่องการเงิน
Core & Peak ขอนำเสนอ 9 คำทำนายเทรนด์ที่น่าสนใจในแต่ละหัวข้อมาฝากกันค่ะ

1. วัฒนธรรม: ละลาย “เรื่องต้องห้าม” ออกจากสังคม
การรื้อสร้างวัฒนธรรมในเอเชียกำลังเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดย 3 ประเด็นหลักที่เคยถูกสังคมกดทับและห้ามพูดถึง กำลังกลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่กล้าพูดกันมากขึ้น ได้แก่ สุขภาพจิต สุขภ าวะทางเพศ และ เพศสภาพ
Wonderman Thompson Intelligence ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,500 คนใน 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไทย และออสเตรเลีย พบว่า ประเด็น “สุขภาพจิต” คือสิ่งที่ผู้บริโภคเป็นกังวลกับตัวเองมากที่สุด โดยเฉพาะเพศชายและพวกเขากล้าที่จะพูดถึงมันมากขึ้น
“เศรษฐกิจสุขภาพในไทย คนไทยเข้าสู่วังวน “จน – เครียด – ป่วย”
ไทยมีแอปพลิเคชั่น Ooca ซึ่งแอปฯ นี้ช่วยเชื่อมต่อคนไข้ให้ได้พูดคุยกับนักบำบัดผ่านวิดีโอคอล และประเทศจีน มีแอปฯ Yummy ที่ช่วยให้ผู้หญิงเข้าถึงความรู้และคำปรึกษาด้านสุขภาวะทางเพศ
ญี่ปุ่นเกิดกระแสสิทธิสตรีประเด็น#KuTooเพื่อเรียกร้องให้ล้มเลิกการแต่งกายที่บีบบังคับเพศหญิงในที่ทำงาน โดยมีแบรนด์อย่าง Pantene ที่ออกแคมเปญสนับสนุนคนรุ่นใหม่ ให้ผู้หญิงปล่อยผมในวันสัมภาษณ์งาน และเป็นตัวเองอย่างอิสระในยุคเรวะหรือยุคใหม่ของญี่ปุ่น

2. เทคโนโลยีและนวัตกรรม: อุปกรณ์เพื่อ “สัมผัส” สิ่งของ
ปลอกนิ้วที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยทำให้รู้สึกและสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ หากทำงานร่วมกับเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) หรือ VR (Virtual Reality) ก็จะยิ่งเหมือนจริง
ผู้บริโภคสามารถ “สัมผัส” พื้นผิวและวัสดุของสิ่งต่างๆ ได้ ซึ่งช่วยเปิดโลกใบใหม่ให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม Alibaba ได้นำเทคโนโลยีนี้มาทดลองใช้แล้ว และวงการเกมมิ่ง ได้นำเทคดนดลยีนี้ผนวกกับ VR และดัดแปลงเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น

3. การท่องเที่ยวและฮอสพิทาลิตี้: เดินทางผจญภัยแบบ “นักวิทยาศาสตร์”
เทรนด์การท่องเที่ยวแนว “วิทยาศาสตร์” จะบูมมากขึ้น เพราะเป็นการเดินทางเพื่อผจญภัยและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มนุษยชาติ
โดยการเดินทางรูปแบบนี้ เป็นโปรแกรมแนวใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวระดับลักชัวรี เพราะการผจญภัยไปยังที่ห่างไกลนานแรมเดือนต้องใช้จ่ายหลักล้านบาท ผู้บริโภคจึงได้ทั้งคอนเทนต์แสดงสถานะทางเศรษฐกิจ รวมถึงประสบการณ์ที่แตกต่างและรักโลกในเวลาเดียวกัน

4. แบรนด์และการตลาด: การออกนอกกรอบของ “เจนซี” ในเอเชีย
เชื่อมโยงวัฒนธรรม เจนเนอเรชั่นซี (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1995-2012 ปัจจุบันอายุ 8-25 ปี) ที่ทยอยเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ท่ามกลางปัญหาระดับโลก เช่น ภาวะโลกร้อน ความปั่นป่วนทางการเมือง หรือความเปลี่ยนแปลงของเพศสภาพและเพศวิถี นั่นทำให้พวกเขาโตขึ้นพร้อมทัศนคติแบบ “นักกิจกรรม” อยู่ในตัว
“พวกเขาตั้งคำถามกับหลักปฏิบัติของสังคมและไม่ต้องการจะอยู่ในระเบียบเดิม ๆ” Gerda Binder ที่ปรึกษาด้านเพศสภาพของ UNICEF ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว
“Sunnies Face แบรนด์เครื่องสำอางในฟิลิปปินส์ ดีไซน์สีเครื่องสำอางโทนอุ่นเพื่อให้สามารถใช้ได้ทุกสีผิว และไม่มีการผลิตสินค้ากลุ่มไวเทนนิ่งเลยแม้แต่ตัวเดียว หรือสินค้าซีอิ๊วแบรนด์ Kimlan ในไต้หวัน ออกโฆษณาฉายภาพคุณแม่สองคนในห้องครัวพร้อมเสียงพากย์ประกอบว่า “ครอบครัวที่แตกต่างมีรสชาติที่แตกต่าง”

5. อาหารและเครื่องดื่ม: วัตถุดิบ “รักษ์โลก” ยังเป็นกระแส
ทวีปเอเชียมีวัตถุดิบมาแรงอย่างหนึ่งคือ “เมล็ดแตงโม” ขนมกินเล่นแบบดั้งเดิมของชาวจีนที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการและไขมันต่ำ สามารถนำไปบดเป็นผงใช้แทนถั่วเหลืองหรือผลิตเป็นเนยได้อีกส่วนหนึ่งของความฮิตมาจากการทดลองสร้างสินค้าเลียนแบบเมล็ดกาแฟ โดยมีเมล็ดแตงโมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ Grand View Research ประเมินว่า ตลาดเมล็ดแตงโมจะเติบโตไปถึง 751 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2025

6. ความงาม: “ขนตา” จะกลับมาแรง
ปีนี้งานขนตากำลังมา ทั้งขนตาปลอมและมาสคาร่าปัดขนตา ซึ่งเห็นได้จากเทรนด์การแต่งหน้าของนางแบบบนรันเวย์ และเป็นวัฏจักรสินค้าหลังช่วงที่ผ่านมากลุ่มมาสคาร่าดูจะดรอปลงไป
Grand View Research ประเมินว่า ภายในปี 2025 มูลค่าตลาดโลกของขนตาปลอมจะแตะ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.4% โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะโตปีละ 6.6%

7. ลักชัวรี: “สัตว์เลี้ยง” แสนรัก เทรนด์การอยู่เป็นโสดที่เพิ่มสูงขึ้นจึงไม่มีลูก กลุ่มคนเหล่านี้ จึงใช้เงินไปกับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมว
ในประเทศจีน เจ้าของสัตว์เลี้ยง 40% เป็นคนโสด และมูลค่าตลาดของสินค้าบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในจีนก็พุ่งไปแตะ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าภายใน 5 ปี (2013-2018) เทรนด์คนรักสัตว์และเลี้ยงเหมือนลูก ส่งผลให้สัตว์มีวิถีชีวิตมีระดับขึ้นกว่าเดิม VistaJet บริษัทบริการเช่าเครื่องบินเหมาลำในมอลตาพบว่า มีสัตว์เลี้ยงเดินทางด้วยเพิ่มขึ้นถึง 104% นับจากปี 2017 ด้านโรงแรมก็ตอบสนองเทรนด์นี้ โดย Canopy by Hilton ในทวีปอเมริกาเหนือ จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท Bark ผู้ให้บริการของเล่นและขนมสุนัข ให้นำสินค้ามาวางในโรงแรมด้วย ส่วน Hotel W Shanghai The Bund เป็นหนึ่งในโรงแรมหลายแห่งของเครือแมริออทที่เปิดโปรแกรมต้อนรับสัตว์เลี้ยงให้เข้าพักในโรงแรมได้

8. สุขภาพ: เทศกาลดนตรี “เยียวยาจิตใจ”
คนเจนวายและเจนซีในวัย 20 กว่าถึง 30 กว่า คำว่า “เทศกาลดนตรี” คืออีเวนต์ที่ช่วยให้ใจสงบขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น
ยกตัวอย่างวง Sigur Ros จากไอซ์แลนด์ พวกเขาสร้างสรรค์เสียงดนตรีประกอบกับการจัดแสงในพื้นที่เทศกาล เพื่อให้คนจมจ่อมไปกับดนตรีที่ช่วยสร้างความสงบในจิตใจพวกเขาจัดอีเวนต์คอนเสิร์ตแบบนี้ไปแล้วหลายแห่งตั้งแต่ลอสแอนเจลิส ลอนดอน จนถึงปารีส
งาน Love Trails Festival งานอีเวนต์ 3 วันของการวิ่งเทรลไปตามป่าเขา และฟังเพลงกันในยามค่ำคืน เป็นอีเวนต์ของนรุ่นใหม่ที่ต้องการไปงานเทศกาลดนตรี ต้องการปาร์ตี้ แต่ความรู้สึกเป็นสุขสุดยอดจากเอ็นโดรฟินนั้นพวกเขาได้จากการวิ่งแทนการเมาวาร์ป

9. การเงิน: ใช้จ่ายด้วย “ไบโอเมตริก”
ไบโอเมตริก ตรวจยืนยันตัวบุคคลด้วยรูปแบบเฉพาะของร่างกาย ทั้งลายนิ้วมือ ใบหน้า นัยน์ตา หรือกระทั่งลายเส้นเลือดฝอยที่ปลายนิ้ว (finger-vein) จะกลายเป็นวิธีการจ่ายเงินแบบใหม่แทนที่เครดิตการ์ด เพราะความสะดวกและลอกเลียนได้ยากของมัน เพียงแค่วางนิ้วลงบนจุดสแกนก็เสร็จพิธี
Google Intelligence คาดการณ์ว่า ภายในปี 2020 นี้ ผู้คน 1.2 พันล้านคนบนโลกจะใช้วิธีจ่ายเงินแบบไบโอเมตริก โดยมีโครงการทดลองเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2019
บริษัท Fingopay ทดลองระบบสแกนลายเส้นเลือดฝอยปลายนิ้วมือเพื่อจ่ายเงินในร้านคาเฟ่ Spisestuerne ในมหาวิทยาลัย Copenhagen Business School ให้นักศึกษาและบุคลากรสามารถลองลงทะเบียนเชื่อมลายนิ้วมือกับการ์ด Visa, Mastercard หรือ Dankort ก็ได้ โครงการนี้จะทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปีก่อนสรุปผล